วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ใครเป็นผู้ควบคุมอินเทอร์เน็ต ?


น้ำมันเชื้อเพลิงถูกควบคุมโดยบริษัทน้ำมันและประเทศตะวันออกกลางไม่กี่ประเทศ แล้วอินเทอร์เน็ตถูกควบคุมโดยใคร?
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ทิม วู นักเขียนแนวไอทีและเทคโนโลยี กล่าวในหนังสือของเขาเล่มล่าสุดที่ชื่อ “Who Controls the Internet?” ว่า ทุกวันนี้การใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ทำให้เราต้องการ bandwidth เพื่อส่งผ่านข้อมูลมากขึ้นด้วย และผลที่ตามมาก็คือในสหรัฐอเมริกามีการใช้ bandwidth กันมโหฬาร พอๆ กับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเลยทีเดียว
หากมองในมุมเปรียบเทียบ bandwidth ก็เหมือนกับพลังงานเชื้อเพลิงที่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ หากเครื่องยนต์ไม่สามารถขับเคลื่อนโดยปราศจากน้ำมันฉันใด อินเทอร์เน็ตก็ไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจาก bandwidth ฉันนั้น
เช่นเดียวกัน ทั้งน้ำมันและ bandwidth ต่างก็ถูกควบคุมปริมาณโดยผู้ผลิตกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม เหมือนน้ำมันที่ถูกควบคุมโดยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ขณะที่ bandwidth ก็ถูกควบคุมโดยบริษัทโทรคมนาคมไม่กี่บริษัท อย่างในสหรัฐอเมริกา คือ AT&T, Comcast, และ Vodafone แต่ถ้าเป็นในประเทศไทยก็เช่น TOT และ true เป็นต้น
ทิม วู จึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราควรจะหาแหล่ง bandwidth ใหม่ๆ กันเสียที เพราะทุกวันนี้ช่องทางหลักที่เราใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตคือ ผ่านสายเคเบิลหรือสายโทรศัพท์ ซึ่งไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศส่วนใหญ่ในโลก ต่างก็ถูกบริษัทเพียง 2-3 บริษัท ซึ่งมักจะเป็นบริษัทโทรศัพท์หรือโทรคมนาคม ผูกขาดธุรกิจนี้อยู่
บริษัทเหล่านี้ผูกขาดโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของแต่ละประเทศ ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณ bandwidth ได้ตามต้องการเพื่อรักษาราคาค่าบริการให้สูงเข้าไว้ และรีดกำไรจากประชาชนให้ได้มากที่สุด ทิม วู บอกว่าดูๆ ไปก็คล้ายกับกลุ่มโอเปคที่มีการกำหนดโควต้าการผลิตน้ำมัน เพื่อประกันราคาน้ำมันให้สูงตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ก็แนะนำว่า ในเมื่อน้ำมันมีพลังงานทางเลือกให้ใช้ เพราะฉะนั้น bandwidth ก็มีพลังงานทางเลือกเช่นเดียวกัน อย่างในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ และบางเมืองในมลรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ต่างก็มีการจัดหาโครงข่ายไฟเบอร์มาใช้กันเอง และเปิดให้ใช้เป็นสาธารณะด้วย
ดังนั้น ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ว่า เราอาจจะสามารถซื้อหาโครงข่ายไฟเบอร์มาใช้กันเอง เหมือนกับกรณีที่เราหาซื้อแผงโซลาร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านนั่นเอง

ระวัง!! เว็บไซต์ขโมยรหัสผ่าน MSN


เว็บไซต์ประเภทนี้จะทำขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อหลอกเอา Username และ Password ของเราไปครับ โดยจะทำให้เราหลงเชื่อว่า เว็บไซต์นี้จะสามารถบอกว่า ใครบล็อกเราไว้บ้าง หรือ ดึงเอาจุดเอ็มของเราทำไม่ได้ ซึ่งทำให้เราหลงเชื่อ และพร้อมที่จะยอมกรอก Username และ Password ของ MSN เพื่อแลกกับข้อมูลที่เราอยากรู้
และเมื่อเราหลงกล กรอกข้อมูลต่างๆ เสร็จเจ้าเว็บพวกนี้ ก็อาจจะขึ้นว่า ตอนนี้ระบบขัดข้อง เพราะคนใช้เยอะ คนโง่แยะ หรืออาจจะขึ้นหน้า ข้อมูลหลอกๆ แต่หารู้ไม่ว่า รหัสผ่าน MSN โดยเจ้าเว็บไซต์พวกนี้ฉกไปแล้ว ทีนี้ วันดีคืนดี ก็จะมีคนแอบเข้ามาอ่านเมล์ และเล่นเอ็มของเรา หน้าตาเฉย นอกจะจะใช้เว็บหลอกเราแล้ว บางทีอีเมล์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งครับ เช่น มีคนเมล์มาหาเราว่า เป็นเมล์ที่ส่งจาก Microsoft หรือ Hotmail โดยให้คลิกลิงค์จากเมล์ แล้วก็จะพบกับเว็บ ให้เรากรอกรหัสผ่านเพื่อยืนยันเมล์เพือทาง Hotmail จะไม่เก็บเงินค่าบริการท่านอะไรเทือกนี้ จริงๆ กลยุทธ์พวกนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ทางแฮกเกอร์ใชักัน เรียกเป็นภาษา IT ว่า Phishing (อ่านว่า ฟิชชิ่ง ให้จำง่ายๆ ว่าขุดบ่อล่อปลานั่นเอง ฮ่า) ส่วนใครที่ทราบความหมายขอคำว่า Phishing คลิกเข้าไปดูได้ที่นี่ครับ (ขอบคุณเว็บ thaicert.org ) ขอสรุปว่า หากใครส่งลิงค์มา ดูนิดนึงก็ดีว่า Link อะไรไปไหน หรือ เว็บนั้นเป็นเว็บอะไร ถ้าเจอเว็บพวกนี้ โฆษณาว่า สามารถทำให้คุณทราบ ได้ว่า ใคร Block คุณไว้บ้าง

วิธีป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์

ภัยมืดที่คุกคามโลกไซเบอร์ที่มีความน่ากลัวเป็นอันดับต้นๆ ก็คงหนีไม่พ้น "ไวรัสคอมพิวเตอร์" ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไปต่างหวาดวิตกและเกรงว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานอยู่นั้นจะติดเชื้อไวรัสจอมวายร้าย แล้วพอจะมีวิธีใดบ้างไหมที่จะช่วยให้รอดพ้นจากไวรัสคอมพิวเตอร์นี้ ดังนั้นบทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการต่างๆ ที่จะใช้ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์ เริ่มต้นด้วยการจัดการภายในเครื่องเช่น การติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัส ตลอดจนการใช้งานโปรแกรมที่มีการเชื่อมต่อไปยังอินเทอร์เน็ต เช่นโปรแกรมเว็บเบราเซอร์ โปรแกรมที่ใช้อ่านอี-เมล์ เป็นต้น

1. ฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน
ตัดการเชื่อมต่อเครือข่ายก่อนการติดตั้งระบบปฏิบัติการ เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากและผู้ใช้งานเกือบทุกคนละเลยและข้ามขั้นตอนนี้ไป ก่อนการติดตั้งระบบปฏิบัติการต้องทำการถอดสายแลนก่อน จนกระทั่งเมื่อติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสเสร็จแล้วจะต้องทำการปรับปรุงฐานข้อมูลของโปรแกรมป้องกันไวรัส เพื่อป้องกันการโจมตีจากไวรัสหรือผู้บุกรุกก่อนที่จะปรับแต่งให้เครื่องมีความแข็งแกร่งเพียงพอ
การฉีดวัคซีนคุ้มกัน ก็คือการติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง ไม่ใช่ว่าเพียงแค่ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสก็จะปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์ได้ ดังนั้นหลักการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมป้องกันไวรัสเพื่อให้เครื่องปลอดภัยมีดังนี้
เลือกใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสที่เหมาะสมหรือตามที่องค์กรกำหนด การเลือกนั้นเป็นเพียงการเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีและองค์กร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเครื่องที่ใช้งานอยู่มีประสิทธิภาพไม่สูงนัก ก็อาจจะเลือกใช้งานโปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีขนาดเล็กและทำงานได้รวดเร็ว หรือถ้าบุคลากรภายในองค์กรขาดความตระหนักในการปรับปรุงฐานข้อมูลไวรัสก็ควรที่จะเลือกโปรแกรมป้องกันไวรัสที่ผู้ดูแลระบบสามารถควบคุมเครื่องดังกล่าวให้ทำการปรับปรุงฐานข้อมูลหรือสแกนหาไวรัสจากระยะไกลได้ เป็นต้น
สร้างแผ่นบูต emergency disk เพื่อใช้ช่วยในการกู้ระบบ การสร้างแผ่น emergency disk หรือบางครั้งอาจเรียกว่า Rescure disk นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเครื่องติดไวรัสที่ไม่สามารถจะกำจัดได้โดยผ่านระบบปฏิบัติการวินโดวส์ หรือผลกระทบของไวรัสที่ทำให้เครื่องไม่สามารถบูตได้ตามปกติ เราก็สามารถใช้แผ่น emergency disk มาช่วยในการกู้ข้อมูลและกำจัดไวรัสออกจนทำให้บูตเครื่องได้ตามปกติ
ปรับปรุงฐานข้อมูลไวรัสทุกวันหรืออย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ขั้นตอนนี้เปรียบเสมือนหัวใจของการใช้งานโปรแกรมป้องกันไวรัส เนื่องจากไวรัสคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาออกมาใหม่ทุกวัน ดังนั้นจึงควรที่จะสอนโปรแกรมป้องกันไวรัสให้รู้จักไวรัสชนิดใหม่ๆ ด้วย โดยการปรับปรุงฐานข้อมูลไวรัสที่ใช้งานนั่นเอง
เปิดใช้งาน auto - protect โดยส่วนใหญ่โปรแกรมป้องกันไวรัสที่ติดตั้งจะทำการสร้างโพรเซสที่จะตรวจหาไวรัสตลอดเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสสามารถถูกเอ็กซิคิวต์ในเครื่องได้
ก่อนเปิดไฟล์จากแผ่นที่นำมาใช้จากที่อื่นให้สแกนหาไวรัสก่อน แผ่นดิสก์ที่นำไปใช้ที่อื่นแล้วนำกลับมาเปิดที่เครื่อง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าแผ่นนั้นไม่มีไวรัสอยู่ ดังนั้นควรจะตรวจหาไวรัสในแผ่นก่อนที่จะเปิดอ่านข้อมูลที่ถูกบรรจุในแผ่นดิสก์ดังกล่าว
ทำการตรวจหาไวรัสทุกสัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์แน่นอนว่ามีไฟล์ที่ผ่านเข้าออกเครื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อี-เมล์ที่ได้รับ ไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ต ตลอดจนไฟล์ชั่วคราวของโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ที่เก็บในแต่ละครั้งที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าไฟล์เหล่านั้นไม่มีไวรัสแฝงตัวมา ดังนั้นจึงควรที่จะทำการตรวจหาไวรัส โดยการสแกนหาทั้งระบบ อาจจะเป็นทุกเย็นของวันศุกร์ก่อนกลับบ้านก็เป็นได้

2. ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานปลอดภัยหรือยัง
ขึ้นชื่อว่าซอฟต์แวร์ย่อมมีช่องโหว่ เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก โดยผ่านทางซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น ดังนั้นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านั้นจึงต้องติดตามอัพเดตเวอร์ชันอยู่เสมอ และผู้ใช้งานโปรแกรมเองก็จำเป็นต้องติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลงของซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่จากผู้จำหน่ายหรือผู้พัฒนา ทั้งทางเว็บไซต์ นิตยสารต่างๆ เป็นต้น
ระบบปฏิบัติการ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องใช้ระบบปฏิบัติการที่ออกใหม่ล่าสุด แต่ถ้าภายในองค์กรมีกำลังทรัพย์พอที่จะเปลี่ยนก็จะเป็นการดี แต่ถ้าด้วยสาเหตุที่งบประมาณน้อยก็ใช้ระบบปฏิบัติการเดิมแต่ต้องทำการติดตามอัพเดต Hotfix และ Service Pack ต่างๆ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ "วิธีการติดตั้ง Microsoft Hotfix และ Service Pack"
โปรแกรม Internet Explorer หรือ IE เป็นโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ทุกเวอร์ชัน เนื่องด้วยไวรัสในยุคปัจจุบันจะอาศัยช่องโหว่ "Incorrect MIME Header Can Cause IE to Execute E-mail Attachment" ในการจู่โจม ซึ่งเป็นการเอ็กซิคิวต์ไฟล์ไวรัสที่แนบมากับอี-เมล์โดยอัตโนมัติ และการจู่โจมด้วยวิธีนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ดังนั้นวิธีการเพื่อป้องกันไวรัสคือการอัพเดตเวอร์ชันของโปรแกรม IE ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด ซึ่งในขณะนี้คือ เวอร์ชัน 6 Service Pack 1 (IE 6 SP1) นอกจากนี้แล้ว การปรับแต่งค่า Security Zone ก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้ปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมในหัวข้อ "การปรับค่า Security Zone เพื่อป้องกันไวรัสของโปรแกรม MS Internet Explorer"
โปรแกรมที่ใช้อ่านอี-เมล์ จากข้อมูลสถิติพบว่าไวรัสคอมพิวเตอร์ประเภทหนอนอินเทอร์เน็ตยุคหลังๆ ที่สามารถแพร่กระจายตัวเองผ่านทางอี-เมล์มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เอ็กซิคิวต์ไฟล์ที่ไวรัสแนบมากับอี-เมล์ ส่งผลให้เครื่องดังกล่าวติดไวรัสได้ ดังนั้นวิธีการป้องกันคือทำปรับแต่งค่าของโปรแกรมไม่ให้ทำการเอ็กซิคิวต์ไฟล์ที่แนบมากับอี-เมล์โดยอัตโนมัติ และไม่ควรบันทึกหรือเอ็กซิคิวต์ไฟล์ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นไวรัสหรือไม่ เพื่อตัดปัญหาความเสี่ยงที่จะติดไวรัสได้
โปรแกรม Microsoft Office การป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสที่มีผลกระทบโดยตรงต่อโปรแกรมนี้คือ การป้องกันไม่ให้เอ็กซิคิวต์โปรแกรมประเภทมาโคร (Macro) ที่แนบมากับไฟล์เอกสารทั่วไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเมื่อทำการเปิดไฟล์เอกสารที่มีโปรแกรมมาโครฝังตัวอยู่นั้น โปรแกรม Microsoft Office เองจะแสดงไดอะล็อกที่บอกว่าจะเอ็กซิคิวต์มาโครที่ติดมากับไฟล์หรือไม่ ให้ทำการตอบว่า Disable เพื่อเป็นการยกเลิกการใช้มาโครในไฟล์เอกสารนั้น

3. การแชร์ไฟล์ และการรับ-ส่งไฟล์ต่างๆ
การแชร์ไฟล์นั้นมีประโยชน์ในการรับ-ส่งไฟล์มากภายในองค์กร เนื่องจากทั้งรวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่ทราบหรือไม่ว่าจากประโยชน์นี้ก็แฝงไว้ด้วยอันตรายที่น่าสะพรึงกลัวของไวรัสคอมพิวเตอร์ด้วย ดังนั้นการแชร์ไฟล์ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง เป็นไปได้ก็ไม่ควรที่จะแชร์ไฟล์ แต่ถ้าในการใช้งานจริงๆ มีความจำเป็นที่จะต้องแชร์ไฟล์ก็ควรที่จะแชร์เป็นประเภทอ่านอย่างเดียว และควรตั้งรหัสผ่านด้วย
การแชร์ไฟล์ผ่านโปรแกรมอื่นๆ เช่น KaZaA ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ไวรัสคอมพิวเตอร์ขนิดใหม่ใช้เจาะเข้ามาแพร่กระจายภายในเครื่องได้
การรับ-ส่งไฟล์ผ่านโปรแกรมสนทนาต่างๆ เมื่อได้รับไฟล์จากคู่สนทนาที่ไม่รู้จักก็ไม่ควรรับไฟล์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับไฟล์นั้นด้วยว่าเป็นไฟล์ประเภทใด โดยดูจากนามสกุลของไฟล์นั้น โดยเฉพาะไฟล์ที่มีนามสกุล .exe .pif .com .bat หรือ .vbs เป็นต้น ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

4. สำรองข้อมูลไว้
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกับเครื่องที่ใช้งานอยู่ เป็นต้นว่าไฟฟ้าตก หรือไวรัสแพร่กระจายไปยังไฟล์สำคัญ อาจส่งผลให้เครื่องนั้นไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติหรือใช้งานไฟล์บางไฟล์ไม่ได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เจ้าของเครื่องดังกล่าวสูญเสียข้อมูลสำคัญๆ ได้ ดังนั้นถ้าเรามีการสำรองข้อมูลไว้ ปัญหาที่ผู้ใช้งานจะสูญเสียข้อมูลก็จะลดลงได้มากพอสมควร ในการสำรองข้อมูลเพื่อใช้ในการกู้ระบบคืนนั้นควรกระทำบ่อยๆ อย่างน้อยประมาณ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และสิ่งที่ควรจะทำการสำรองไว้บ่อยๆ คือ
การสำรองเรจิสทรีย์ การสร้างความเสียหายของไวรัสหรือหนอนส่วนใหญ่มักจะไปทำการแก้ไขค่าต่างๆ ในเรจิสทรีย์ ดังนั้นการสำรองเรจิสทรีย์จึงมีความสำคัญมากในการช่วยกู้ระบบกลับคืนมา ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดวิธีการสำรองเรจิสทรีย์ในหัวข้อ "วิธีการสำรองข้อมูล Windows registry"
การสำรองข้อมูลต่างๆ คงไม่มีใครที่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องลบไฟล์บางไฟล์ที่ติดไวรัส และไฟล์นั้นมีความสำคัญสูงมาก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว วิธีการแก้ปัญหาที่คาดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดคือการกู้ไฟล์เหล่านั้นคืนจากที่ได้สำรองไว้

5. ติดตามข่าวสารต่างๆ
เนื่องด้วยในวันหนึ่งๆ จะมีไวรัสคอมพิวเตอร์ออกมาใหม่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและหาทางป้องกันจึงนับเป็นหนทางที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ทั่วๆ ไปหรือแม้กระทั่งผู้ดูแลระบบเอง จึงควรที่จะหาช่องทางในการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับไวรัสคอมพิวเตอร์และข่าวสารเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ด้วย